20140805-110740-40060635.jpg

เป็นหนังอินเดียที่ไม่มีฉากเต้นรำ แต่ลีลาการทำงานของคนส่งปิ่นโตก็ดูจะไม่ต่างจากลีลาการร่ายรำที่สนุกสนาน หนังยกประเด็นความผิดพลาดที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นจากระบบการส่งปิ่นโต ที่อิลาพยายามจะทำอาหารกลางวันอย่างสุดฝีมือเพื่อส่งให้สามี แต่กลายเป็นว่าส่งผิดไปให้กับเฟอร์นันเดซชายที่สิ้นหวัง โดดเดี่ยว และกำลังจะออกจากงาน จนเกิดเรื่องราวความประทับใจ โดยที่ต่างฝ่ายไม่เคยเห็นหน้ากันและกัน มีเพียงแค่อาหารกลางวัน รสชาติดี และโน้ตข้อความที่โต้ตอบระหว่างกัน

เนื้อหาของหนังดำเนินไปอย่างไม่น่าเบื่อ และให้เราได้ลุ้นไปกับสิ่งดีๆที่อาจจะเกิดขึ้นจากความผิดพลาดครั้งนี้ ฉากหลังของอินเดียเต็มไปด้วยความวุ่นวาย และวิถีชีวิตจริงๆของชาวอินเดีย ที่ฉันเองก็เคยผ่านตามาบ้าง ไม่ว่าจะเป็นบ้านเมือง อารมณ์ ความรู้สึก แม้จะไม่ใช่ที่มุมไบแห่งนี้ แต่ที่ตื่นตาที่สุดก็คงจะเป็นตัวละครหลักที่ทำให้เกิดเหตุการณ์นี้อย่างคนส่งปิ่นโต ซึ่งพอเห็นในหนังต้องกลับมาหาข้อมูลว่าระบบการส่งปิ่นโตมันต้องใหญ่โตมากแน่ๆ และมันมีจริงเหรอ และถ้ามีจริงอีตาคนส่งปิ่นโตนี่ช่างมั่นใจในการทำงานของตัวเองเหลือเกิน หรือเป็นแค่นิสัยขี้คุย ไม่ฟังใครของคนอินเดียที่มักจะไม่ยอมรับความผิดพลาดของตน ดื้อตาใส หากมีใครเข้าไปบ่น ต่อว่า
เมื่ออิลา ได้พยายามชี้แจงกับคนส่งปิ่นโตว่าปิ่นโตที่ถูกส่งไปนั้น ได้ส่งไปผิดที่ แต่คนส่งปิ่นโตไม่ยอมรับว่าผิด และยืนยันว่าตนเองถูกแน่นอน โดยไม่ลังเล หรือตรวจสอบ

“คนจากฮาวาร์ดมาตรวจสอบระบบของเรา ไม่มีทางผิดพลาดแน่นอน”
“กษัตริย์ของอังกฤษยังมาตรวจสอบระบบของเราด้วยตนเอง”

โอ้โห งั้นเลยเหรอ สรุปแล้วไอ้การส่งปิ่นโตเนี่ยมันมีจริงๆ เหรอ แล้วมันไม่มีทางผิดพลาดจริงๆอ่ะ เพราะถ้าดูในหนัง คนทำงานแต่ละคนดูไม่น่าเชื่อถือจนจะเชื่อได้ว่าไม่มีทางผิดพลาดเลย

ปรากฎว่า มีจริงๆด้วย บริการส่งปิ่นโตจากบ้านหรือร้านทำอาหารไปส่งยังสำนักงานต่างๆ ที่เมืองมุมไบ มีชื่อเรียกเฉพาะว่า “Dabbawala”

Dabba แปลว่ากล่อง หรือปิ่นโต Dabbawala แปลว่าคนส่งปิ่นโต ระบบการส่งปิ่นโตเกิดขึ้นมากว่า 125 ปีในมุมไบ ประเทศอินเดีย เพื่อส่งอาหารที่ทำจากครอบครัวไปให้กับสามีหรือผู้ที่ทำงานนอกบ้าน ได้ทานอาหารกลางวันที่สะอาดและรสชาติดี

Dabbawala จะไปรับปิ่นโตจากแต่ละบ้านหรือร้านรับทำอาหารเพื่อนำไปส่งปลายทางที่ว่าจ้างกันไว้ ตั้งแต่ 9โมงเช้า เพื่อมารวบรวมและกระจายโดยใช้จักรยานและรถไฟ เป็นหลักในการจัดส่ง ปิ่นโตแต่ละใบหนักประมาณ 1.5กก. คนๆหนึ่งจะต้องรับปิ่นโตใส่จักรยานบางครั้งอาจจะมากถึง 40-50 อัน แล้วนำมารวบรวมกระจายต่อ ปิ่นโตบางอันอาจจะต้องเปลี่ยนมือเพื่อส่งต่อถึง 4-6 ครั้ง ในมุมไบซึ่งการจราจรติดขัดและวุ่นวายที่สุด การใช้ระบบการรถไฟเป็นทางเลือกที่ตรงเวลาในการทำงานที่สุด ซึ่ง Dabbawala เองก็ต้องรีบทำงานแต่ละขั้นตอนให้ทันเวลากับตารางเวลาของรถไฟ หากผิดพลาดก็จะทำให้ระบบการขนส่งปั่นป่วนและล่าช้าไปได้ ระบบการขนส่งของ Dabbawala ใหญ่โตจนถึงขนาดมีตู้ในรถไฟ เพื่อวางปิ่นโตจำนวนมากเป็นของตัวเอง และสถานีใหญ่ที่บรรดาคนส่งปิ่นโตจะมารวบรวมและคัดแยกเพื่อกระจายปิ่นโต ก็คือสถานี  Churchgate ซึ่งเป็นสถานีที่ฟ้าชายชาร์ล ได้เสด็จเพื่อมาดูการทำงานของบรรดา Dabbawala ที่นี่  (เป็นเรื่องจริงที่ไม่ได้โม้ในเรื่องว่า กษัตริย์ของอังกฤษยังมาตรวจสอบระบบการทำงานของคนส่งปิ่นโตด้วยตัวเอง จริงๆด้วยหละ) ปิ่นโตทุกอันจะต้องถูกส่งไปยังปลายทางให้ทันในเวลาบ่ายโมง ซึ่งเป็นเวลาพักทานอาหารของชาวอินเดีย หลังจากนั้นช่วงบ่ายๆ ก็จะเป็นการเก็บปิ่นโตเพื่อส่งกลับต้นทางของแต่ละอัน โดยจะเสร็จงานทั้งหมดในเวลาไม่เกิน 6 โมงเย็น

วันหนึ่ง Dabbawala จะมีปิ่นโตเพื่อส่งประมาณ 150,000 อัน ทุกวัน และจากการมาศึกษาระบบการทำงานส่งปิ่นโตพบว่าแทบจะไม่มีความผิดพลาดเกิดขึ้นเลย หรืออาจจะเกิดขึ้นเพียงแค่ 1 ครั้งใน 8,000,000 ครั้งของการส่งปิ่นโต ซึ่งน้อยมากๆๆๆ สาเหตุนี้จึงเป็นที่มาของหนังเรื่องนี้ในแง่ของความผิดพลาดที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้
ระบบใหญ่ และมีประสิทธิภาพขนาดนี้มาดูเรื่องอื่นๆที่น่าสนใจของ Dabbawala กันอีกนิด ค่าใช้จ่ายในการจ้างเพื่อส่งปิ่นโตเพียงแค่เดือนละ 450 รูปี หรือประมาณ 8$ (ข่าวว่ามิถุนายน 2014 ที่ผ่านมา ขึ้นมาอีก 100 รูปี)

ส่วนคนส่งปิ่นโต หรือ Dabbawala ได้รายได้ต่อเดือนประมาณ 4,000 – 5,000 รูปี นับว่าเป็นรายได้ที่สูงพอสมควร แต่ก็ไม่มากเมื่อเทียบกับค่าครองชีพในมุมไบ สำหรับบรรดา Dabbawala ที่มาทำงานนี้ไม่ได้ทำงานในฐานะลูกจ้าง แต่เป็นคล้ายกองทุน สหกรณ์ที่ทุกคนเป็นผู้ถือหุ้น มีส่วนได้เสีย จึงทำให้ Dabbawala ทุกคนต่างตั้งใจทำงานกันเต็มที่ เพราะทำมาก เร็ว ก็จะได้ผลตอบแทนมากขึ้นไปด้วย โดยกองทุนดังกล่าวมีตัวแทนที่คอยจัดการเป็นผู้จัดการ และดูแลผลประโยชน์โดยรวมให้ Dabbawala ทุกคน
Dabbawala  จะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีขาว สวนหมวกคานธี เกือบจะทุกคน ไม่รู้หนังสือ แต่สามารถรับ-ส่งปิ่นโต โดยไม่ผิดพลาดใดๆ โดยใช้เพียง code ที่เขียนไว้ข้างๆปิ่นโต บริการรับส่งปิ่นโตดำเนินมาอย่างยาวนาน และไม่เคยมีวันหยุดไม่ว่าฝนจะตก แดดออก หรือในวันที่มีพายุมรสุมใหญ่ในมุมไบก็ตาม  ระบบวิธีการทำงานของ Dabbawala ได้รับความเชื่อถือ และน่าสนใจจนได้รับเชิญไปบรรยายการทำงานให้นักศึกษา บริษัทใหญ่ และหน่วยงานต่างๆถึงวิธีการทำงาน ซึ่งใช้มากว่า 125 ปี และธุรกิจนี้มีอัตราการเติบโตปีละ 4-5%

หลังจากหาข้อมูลของการบริการรับ-ส่งปิ่นโต หรือ Dabbawala แล้ว พบว่าเรื่องราวจากหนังอินเดีย  The Lunchbox เป็นเรื่องราวผิดพลาดแบบในหนังมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก รวมถึงเข้าใจวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์อีกแบบหนึ่งของชาวเมืองมุมไบ หากวันหนึ่งข้างหน้ามีโอกาสไปเยือนมุมไบ การได้พบเจอ Dabbawala คงเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น และเข้าใจได้ถึงเสียงตะโกนดังๆไล่หลัง ขอทางจากคนแบกปิ่นโตบนเสลี่ยงไม้อันใหญ่ เพราะพวกเค้าต้องรีบนำความรัก ความปรารถนาดี และอาจมีข้อความซึ้งๆ บอกรัก กล่าวขอโทษ ตั๋วหนังมาพร้อมกับอาหารดีๆ ในปิ่นโตจากครอบครัวที่รัก  มาส่งให้กับคนในครอบครัวที่กำลังคร่ำเคร่งกับการทำงานในตึกสูงที่วุ่นวายใจกลางเมืองมุมไบก็เป็นได้


 

ข้อมูลอ้างอิง

 


Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.